รายงานพิเศษ ชายหาดปลอดบุหรี่ นักท่องเที่ยวมีความสุขเพราะได้เล่นน้ำทะเลและท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างปลอดภัยไร้มลพิษ
Release Date : 28-08-2018 19:58:13
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ก้นกรองบุหรี่เป็นขยะที่พบได้บ่อยที่สุด มีการประมาณการว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีปริมาณการผลิตและใช้ก้นกรองบุหรี่มากถึง 4.5 ล้านล้านชิ้น เฉพาะในประเทศไทย มีก้นบุหรี่ผลิตขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น ที่กลายเป็นขยะไปตกอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ขยะจากก้นกรองบุหรี่ จะประกอบด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง สามารถทำให้น้ำเกลือและน้ำสะอาดมีพิษ และยังเป็นพิษต่อจุลินทรีย์และสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ส่วนสัตว์ขนาดใหญ่มักได้รับผลกระทบจากการกินขยะประเภทนี้จนเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการผลิตก้นกรองบุหรี่ยังมีพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 2-12 ปี ปัจจุบันหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะจากก้นบุหรี่และรณรงค์ลดขยะด้วยวิธีต่างๆ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทางทะเล จึงได้สำรวจปริมาณและประเภทของขยะ พบก้นกรองบุหรี่กระจายเกลื่อนชายหาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น จึงคิดโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ขึ้นมาโดยนำร่อง 24 ชายหาดที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ่งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การที่เราจะบอกให้คนหยุด ไม่สูบบุหรี่บนชายหาด หรือทิ้งขยะ หรือทิ้งน้ำเสียตรงจุดที่เรากำหนด เราต้องมีสถานที่รองรับให้เขา เช่นเรื่องบุหรี่ ชัดเจนว่าต้องมีสถานที่สูบ เมื่อก่อนไม่มีทุกคนก็จะลงไปในทะเลแล้วก็จะไปสูบบุหรี่ เราต้องวางแผนว่าแต่ละแห่งจะมีที่สูบบุหรี่เท่าไร เช่น หาดป่าตอง เมื่อก่อนมี 2 จุด วันนี้เพิ่มเป็น 28 จุด ในระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แล้วก็มีป้ายทั้งภาษาไทย อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ที่ผ่านมา 24 ชายหาด 15 จังหวัด ก็ไม่ปรากฏผู้กระทำความผิดเพราะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตรา ”
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่าในระยะเวลาอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่ปลอดบุหรี่ จะประกาศพื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึงว่าชายหาดที่ประเทศไทยจำนวน 300 – 400 แห่ง จะกลายเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งประเมินว่ามาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและคาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขเพราะได้เล่นน้ำทะเลและท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างปลอดภัยไร้มลพิษ